วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556

การเชื่อมต่อการประชุมทางไกล ตอนที่ 2 | ADSL

            สวัสดีครับ ตอนนี้ เป็นตอนที่ 2 นะครับ ต่อจากระบบ ISDN ผมขอนำเสนอระบบที่ใหม่ขึ้นมาอีกนิดคือระบบ ADSL ครับ ADSL ย่อมาจาก Asynchronous Digital Subscriber Line ซึ่งเป็นระบบที่ใช้โมเด็มรูปแบบใหม่ คือสามารถใช้ระบบโทรศัพท์สายคู่ตีเกรียวแบบเดิม ให้มีศักยภาพในการรับ ส่งข้อมูลในปริมาณมากๆ ได้ ในช่วงแรกมีความเร็วมากถึง 6 Mbps (เทียบกับโมเด็มรุ่นแรก 56 Kb นี่ฟ้ากับเหวเลย) โดยระบบ ADSL นี้ทำให้สายโทรศัพท์ที่ใช้งานอยู่สามารถสื่อสารได้ 2 ทางโดยใช้สายเคเบิ้ลที่มีอยู่เดิมได้เลยครับ

            ADSL จัดว่าเป็นการพลิกการใช้งานบนสายโทรศัพท์เดิม ทำให้การใช้งานอินเตอร์เน็ตมีความสามารถด้านกราฟิกที่ดีขึ้นกว่าเดิม รวมถึงการส่งภาพเคลื่อนไหวที่เสถียรขึ้น และมีราคาที่ไม่แพงมากนักทำให้การใช้งานได้ในระดับครัวเรือน ยิ่งมีการสนับสนุนระบบ Broadband และมีการแข่งขันกันของบริษัทเอกชน ทำให้มีรูปแบบการบริการที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ความสามารถของ ADSL

           วงจร ADSL เกิดขึ้นด้วยการต่อ ADSL modem เข้าที่ปลายแต่ละด้านของคู่สายโทรศัพท์ที่เป็นสายคู่ตีเกลียว ทำให้เกิดเป็นช่องสื่อสารข้อมูล (Information channel) ขึ้น 3 ช่อง คือช่องสำหรับดาวน์สตรีม (Downstream) ความเร็วสูง ช่องส่งดูเพล็กซ์ (Duplex) ความเร็วปานกลาง และช่องสำหรับให้บริการโทรศัพท์แบบเดิม (POTS) ทั้งนี้ช่องบริการโทรศัพท์แบบเดิมจะถูกแยกออกจากดิจิตอลโมเด็มด้วยฟิลเตอร์ จึงมั่นใจได้ว่า การสนทนาทางโทรศัพท์ตามปกติ จะไม่มีการถูกตัดหรือกระทบกระเทือนแต่อย่างใด แม้อุปกรณ์ ADSL จะมีปัญหาหรือขัดข้อง

            ในช่องความเร็วสูงนั้นมีอัตราความเร็วตั้งแต่ 1.5-6.1 Mbps ในขณะที่การสื่อสารข้อมูลแบบดูเพล็กซ์อยู่ในช่วงตั้งแต่ 16-40 Kbps และแต่ละช่องสัญญาณสามารถที่จะทำการ submultiplex ให้เป็นช่องสำหรับการส่งด้วยอัตราความเร็วต่ำ ๆ ได้หลาย ๆ ช่อง

เทคโนโลยี ADSL กับระบบการประชุมทางไกล

            ADSL เป็นกระบวนการจัดการกับสัญญาณแบบดิจิตอลขั้นสูง และทำการบีบข้อมูล เพื่อส่งผ่านคู่สายโทรศัพท์ที่เป็นสายคู่ตีเกลียวไปยังปลายทาง ทำให้สามารถตอบโจทย์การประชุมทางไกล ทำให้ผู้ใช้ขยายกลุ่มจากในระดับองค์กรมาสู่ระดับครัวเรือน

           แต่ในกรณีที่ต้องการใช้การประชุมทางไกลในระดับองค์กรนั้น ADSL ก็ยังพอจะสามารถทำได้โดย ADSL modem จะทำการแบ่งแถบความถี่ที่ใช้งานของคู่สายโทรศัพท์ออกไปอีก 1 ช่อง มี 2 แบนด์ คือเป็น FDM (Frequency Division Multiplexing) หรือ Echo Cancellation โดย FDM กำหนดให้ใช้แบนด์หนึ่งสำหรับอัพสตรีมข้อมูล และอีกแบนด์หนึ่งสำหรับดาวน์สตรีมจะถูกแบ่งด้วยวิธีการของ TDM (Time Division Multiplexing) เป็นช่องความเร็วสูง 1 ช่อง (หรือมากกว่า) และช่องความเร็วต่ำอีก 1 ช่อง (หรือมากกว่า) ส่วนกรณีของอัพสตรีมจะถูกมัลติเพล็กซ์เข้ากับช่องความเร็วต่ำที่สัมพันธ์กัน สำหรับ Echo Cancellation จะกำหนดให้แบนด์อัพสตรีมเกิดการเหลี่ยมกับของดาวน์สตรีม และแยกทั้งสองออกจากกันด้วย local echo cancellation ซึ่งเป็นเทคนิคหนึ่งที่คุ้นเคยกันดีในโมเด็ม V.32 และ V.34 ส่วนเทคนิคอื่น ๆ นั้น ADSL จะแยกย่านความถี่ 4 KHz ไว้สำหรับใช้กับบริการโทรศัพท์พื้นฐานที่ปลาย DC ของแบนด์


            วันนี้คงจะได้ความรู้ของ ADSL กันพอสมควรนะครับ ขอบคุณที่ติดตามอ่านนะครับ

พิศุทธิ์ บุญทรง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น